ฟังจากฝั่งญี่ปุ่น! ข้อดีข้อเสียของการที่ให้เด็กเล่นเกม

ฟังจากฝั่งญี่ปุ่น! ข้อดีข้อเสียของการที่ให้เด็กเล่นเกม

เด็ก

คนจำนวนมากมักนึกถึงข้อเสียของเกมและไม่อยากให้ลูกเล่นเกม แต่จริงๆ แล้วการเล่นเกมก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย มาฟังข้อดีและข้อเสียของการเล่นเกม และวิธีที่พ่อแม่ควรปฏิบัติเพื่อให้ลูกเดินทางสายกลางเล่นเกมแล้วให้ประโยชน์มากกว่าโทษ จากผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลเด็กชาวญี่ปุ่นกันค่ะ

ข้อดีของการเล่นเกม

1. เสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์
จากการศึกษาในเด็กวัย 12 ปี พบว่าการเล่นวิดีโอเกมจะทำให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าเด็กที่ไม่เล่น เพราะความซับซ้อนของตัวละครและเนื้อหาในเกมยุคใหม่จะส่งเสริมให้เด็กมีทักษะในการแก้ไขปัญหา และนำไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริงได้

2. เพิ่มทักษะในการมองด้านมิติสัมพันธ์
จากงานวิจัยพบว่าการเล่นเกมจะส่งเสริมการรับรู้ด้านมิติสัมพันธ์ และเพิ่มทักษะที่เป็นเหตุเป็นผลทำให้การเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ดีขึ้น จากงานวิจัยในนักศึกษาวิทยาลัยพบว่าการเล่นเกมเป็นเวลา 25 นาที ก่อนสอบ จะทำให้พวกเขาสอบได้คะแนนดีกว่าการไม่เล่นเกม

3. เพิ่มความสามารถในการเปลี่ยนความสนใจโดยอัตโนมัติ
การเล่นเกมทำให้เด็กมีความสามารถในการเปลี่ยนมุมมองได้อย่างรวดเร็วหรือสามารถเปลี่ยนความตั้งใจให้จดจ่อต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้อย่างทันทีทันใด ซึ่งช่วยให้เด็กสามารถอ่านหนังสือ ดูแผนที่และแก้โจทย์คณิตศาสตร์ได้ดีขึ้น

ข้อเสียของการเล่นเกม

1. ทำให้เสียสมาธิในการเรียน
งานวิจัยหลายชิ้นพบว่าเด็กที่เล่นเกมเป็นเวลานานจะไม่สามารถจดจ่อกับงานที่ทำหรือการเรียนหนังสือได้ กล่าวคือจะไม่ค่อยมีสมาธิในการเรียนหนังสือ

2. ผลการเรียนตกต่ำ
จากงานวิจัยในเด็กอายุ 6-9 ขวบ พบว่าเด็กที่เล่นเกมจะใช้เวลากับเกมมากจนมีเวลาทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น เวลาทำการบ้านและการอ่านหนังสือลดลง จนส่งผลเสียต่อระดับการเรียน

3. ปัญหาทางพฤติกรรมจากการเล่นเกมที่มีความรุนแรง
ฉากรุนแรงในเกมมีผลเสียต่อพฤติกรรมของเด็ก โดยมีรายงานยืนยันว่าเด็กที่เล่นเกมที่มีเนื้อหารุนแรงเป็นเวลานานมักจะมีผลการเรียนที่แย่ลง และมีพฤติกรรมก้าวร้าวและมีปัญหามากขึ้น

เคล็ดลับเพื่อสร้างสมดุลในการเล่นเกมให้แก่เด็ก

เพื่อลดผลเสียของเกมต่อลูก สิ่งสำคัญคือการสร้างสมดุลในการเล่นเกมและการทำกิจกรรมอื่นๆ ให้แก่ลูก เพื่อลดเวลาการเล่นเกม โดยมีเคล็ดลับดังต่อไปนี้คือ

1. สร้างตารางเวลาของกิจวัตรประจำวันร่วมกันระหว่างพ่อแม่และลูก
สำหรับเด็กเล็กการจัดตารางเวลาในแต่ละวันและสัปดาห์ร่วมกัน เช่น เวลาทำการบ้าน เวลาและสถานที่ไปเล่นนอกบ้าน และการเรียนพิเศษต่างๆ เป็นต้น จะช่วยสร้างสมดุลเวลาในการทำกิจกรรมอื่นๆ และเล่นเกมให้แก่เด็กได้ การช่วยกันจัดตารางเวลาร่วมกันจะทำให้เด็กมีความพยายามอย่างแข็งขันเพื่อจะทำกิจกรรมที่กำหนดไว้ตามตาราง ได้ดีกว่าตารางที่จัดโดยพ่อหรือแม่ สำหรับเด็กที่โตขึ้นก็อธิบายถึงผลดีและผลเสียของเกมให้ลูกฟังว่าการเล่นเกมในเวลาที่พอดีจะช่วยผ่อนคลายความเครียดและเสริมสร้างทักษะต่างๆ ได้ แต่หากเล่นมากเกินไปก็ส่งผลเสียดังข้างต้น

2. ชวนลูกเล่นและทำกิจกรรมอื่นแทนการปล่อยให้เล่นเกมเป็นเวลานาน
ให้ลูกได้วิ่งเล่นนอกบ้านกับเพื่อนหรือทำกิจกรรมอื่นที่สนุกสนาน เช่น การพับกระดาษ วาดรูป และทำงานประดิษฐ์ เป็นต้น เพื่อให้ลูกได้สัมผัสกับกิจกรรมอื่นที่สนุกมากกว่าการเล่นเกม หากเด็กๆ รู้สึกว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่สนุกเหมือนการเล่นเกม พวกเขาก็จะห่างจากเกมหรือหน้าจอเพื่อทำกิจกรรมอื่นได้ง่าย และพวกเขาก็จะไม่คอยคิดแต่ว่าจะเล่นเกม

3. วางเครื่องเล่นเกมหรือสมาร์ทโฟนในตำแหน่งที่เด็กเอื้อมไม่ถึง
ในเด็กเล็กๆ ที่มีแนวโน้มว่าจะเล่นเกมทุกครั้งที่เห็นเครื่องเล่นเกมหรือสมาร์ทโฟน การเก็บเครื่องเล่นเกมหรือสมาร์ทโฟนให้ห่างจากมือเด็กให้มากที่สุด จะช่วยลดความอยากเล่นเกมของลูกได้

4. การเล่นเกมด้วยกันระหว่างพ่อแม่และลูก
การเล่นเกมกับลูกมีข้อดีคือ การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่และลูก และทำให้การพูดคุยกันถึงการสร้างสมดุลระหว่างเกมและชีวิตเป็นไปได้อย่างราบรื่น อีกทั้งพ่อแม่ยังได้ประโยชน์จากการกระตุ้นการทำงานของสมองจากการเล่นเกมด้วย

ในปัจจุบันที่เด็กสามารถเล่นเกมได้ง่ายขึ้นจากเครื่องเล่นเกม สมาร์ทโฟน แท็บเลต และไอแพด เป็นต้น ทำให้เด็กมีโอกาสติดเกมได้ง่าย แทนการห้ามไม่ให้ลูกเล่นเกมเลยหรือปล่อยให้ลูกเล่นจนติดเกม ก็เปลี่ยนมาเป็นทางสายกลางสร้างสมดุลระหว่างเวลาการเล่นเกมและทำกิจกรรมอื่นๆ ที่มีให้ทำได้เฉพาะในวัยเด็กเท่านั้น ด้วยวัยเด็กเป็นช่วงเวลาสำคัญของการวางรากฐานสำหรับการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างสมดุลในอนาคต เรามาใส่ใจให้ลูกเติบโตขึ้นและมีความสุขในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้าเป็นอย่างยิ่งจากการสร้างสมดุลระหว่างเวลาการเล่นเกมและการทำกิจกรรมอื่นๆ ในชีวิตประจำวันกันค่ะ