สมชัย เลิศสุทธิวงค์ “เคลียร์” ก้าวต่อไปของ เอไอเอส

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ “เคลียร์” ก้าวต่อไปของ เอไอเอส

ธุรกิจ

บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ ที่สุดในประเทศไทย กำลังจะมีอายุครบ 34 ปีในปีนี้

ตลอด 34 ปีแห่งการดำรงอยู่ของเอไอเอสในประเทศไทย ผู้ให้บริการมือถือยักษ์ใหญ่รายนี้ ปรับเปลี่ยนรูปโฉมและทิศทางเรื่อยมา อันเป็นธรรมดาของธุรกิจที่ผูกติดกับเทคโนโลยี ย่อมต้องปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว ว่องไว และไม่หยุดนิ่ง

จากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Moblie Operator) เอไอเอสปรับตัวสู่การเป็น Telecom Service Provider โดยมีบริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ตามบ้าน (Fixed Line Broadband) เข้ามาเสริมกำลัง จากนั้นขยับสู่การเป็น Digital Life Service Provider ซึ่งมีทั้งโครงข่ายและบริการดิจิทัลหลากหลาย จนล่าสุดมุ่งหน้าสู่การเป็น Cognitive Telco หรือองค์กรโทรคมนาคมอัจฉริยะภายใต้เป้าหมาย 3 ปี (2565-2567)

นอกจากการแสวงหาโอกาสและการเติบโตใหม่ๆ หลังรายได้หลักจากบริการมือถือเติบโตลดลงต่อเนื่อง ปี 2566 ยังเป็นอีกปีที่มีความสำคัญยิ่งต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย เพราะการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค มีกำหนดเสร็จสิ้นภายในไตรมาสแรกของปี 2566 ซึ่งจะทำให้ผู้เล่นในตลาดลดจาก 3 รายเหลือ 2 ราย และทรูจะขยับขึ้นมาเป็นผู้ให้บริการอันดับ 1 เมื่อนับจากจำนวนลูกค้า

ขณะเดียวกัน ภายในไตรมาสสองของปี 2566 กระบวนการเข้าซื้อกิจการ 3BB จากกลุ่มบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ของเอไอเอส ก็จะแล้วเสร็จเช่นกัน ซึ่งจะทำให้เอไอเอสไฟเบอร์ ก้าวสู่การเป็นผู้เล่นอันดับ 2 รองจากทรูออนไลน์ทันที

ความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญยิ่งยวดในปีนี้ สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเอไอเอส มีมุมมองอย่างไร เชิญติดตามคำบอกเล่าของเขาผ่านการถ่ายทอดจาก “ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ได้ ณ ต่อไปนี้

มองการแข่งขันหลังทรูควบรวมดีแทคไว้อย่างไร

การรับมือการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจที่เอไอเอสทำอยู่ เป็นเรื่องปกติ มันไม่ได้ต้องการการขับเคลื่อนเชิงกลยุทธ์เท่าไรนัก เรารู้มาตลอดว่าผู้เล่นเบอร์ 3 ต้องการขยับขึ้นเป็นเบอร์ 2 พอได้เป็นเบอร์ 2 ก็ต้องการขยับขึ้นเป็นเบอร์ 1 แต่การขยับแซงเอไอเอสขึ้นไปได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายแน่ จึงนำมาสู่การควบรวม

ถ้าให้ประเมินการแข่งขัน ผมเชื่อว่าในระยะสั้น 1-2 ปีข้างหน้า จะมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นเพื่อรักษาฐานลูกค้า จากสถิติทั่วโลก บริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมกิจการ จะสูญเสียลูกค้าราว 10-15% เพราะการควบรวมนำไปสู่การปรับลดค่าใช้จ่าย ผนวกบริการที่ทับซ้อนเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งอาจเกิดข้อติดขัด กระทบต่อคุณภาพบริการไม่มากก็น้อย นั่นเป็นเหตุให้ต้องมีการงัดกลยุทธ์ราคาออกมาปกป้องไม่ให้ลูกค้าไหลออกแน่ๆ

“ตรงนี้เราไม่มีความกังวล ธุรกิจมือถือแข่งขันกันมาตลอดอยู่แล้ว แต่หลังจาก 1-2 ปีผ่านไป การแข่งขันย่อมต้องลดน้อยลง เพราะตลาดกลายเป็นผูกขาดผู้เล่นเหลือ 2 ราย (Duopoly) อันนี้เป็นทฤษฎีที่ทุกคนรู้กัน การแข่งขันน้อยลง ราคาย่อมสูงขึ้น ในที่สุดบริษัทใหม่จากการควบรวมจะเริ่มแสวงหากำไรและหยุดแข่งขันเพื่อให้ทำกำไรได้เร็วๆ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมองค์กรต่างๆมากมาย จึงได้ออกมาคัดค้านการควบรวมดังกล่าว”

“ผมให้ไม่เกิน 2 ปี ตลาดจะกลายเป็นผูกขาด 2 รายอย่างเต็มรูปแบบ และสิ่งที่จะเกิดขึ้นนี้ ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. และผู้เกี่ยวข้อง ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ”

คำว่าเบอร์ 1 สำคัญกับเอไอเอสแค่ไหน

ผมว่าวันนี้ไม่มีใครพูดเรื่องการเป็นเบอร์ 1 หรือเบอร์ 2 แล้ว ยิ่งถ้านับความเป็นเบอร์ 1 ด้วยจำนวนลูกค้า มันเป็นเกมเก่า ในมุมธุรกิจเราวัดกันที่ผลกำไร และประสบการณ์ลูกค้ามากกว่า ความพึงพอใจของลูกค้าจะเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ ซึ่งเอไอเอสมีเป้าหมายชัดเจนภายใต้การเป็น Cognitive Telco ตั้งแต่การสร้างความมีส่วนร่วม หรือ Interactive กับลูกค้าตลอดเวลา, การสร้างบริการที่ตอบสนองได้เฉพาะบุคคล หรือ Personalization และต้องให้บริการได้รวดเร็วและตอบสนองแบบ Real Time

ประเมินการแข่งขันหลังซื้อ 3BB อย่างไร

ตอนเราตัดสินใจก้าวเข้าสู่ธุรกิจบรอดแบนด์ตามบ้าน ต้องใช้เวลาพอสมควรในการโน้มน้าวให้ผู้ถือหุ้นเห็นด้วย โดยธรรมชาตินักลงทุนย่อมต้องการผลกำไรมากที่สุด การลงทุนใหม่ๆ โดยเฉพาะโครงข่ายบรอดแบนด์เป็นการลงทุนมูลค่าสูง แม้เอไอเอสจะค่อยๆลงทุนอย่างสมเหตุสมผลก็ตาม

ธุรกิจอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ตามบ้านยังมีโอกาสเติบโตอีกมากต่างกับธุรกิจมือถือซึ่งปัจจุบันอยู่ในภาวะอิ่มตัว ขณะนี้มีผู้ใช้บริการมือถือทั้งสิ้น 100 ล้านเลขหมาย ประเทศไทยมีประชากรราว 70 ล้านคน จำนวนผู้ใช้ต่อประชากรอยู่ที่ 140-150% เข้าไปแล้ว

อัพเดทข่าวธุรกิจ มาใหม่ แนะนำข่าวเพิ่มเติม : ธุรกิจแห่งความสุข เป้าหมายเพื่อการดำเนินธุรกิจและยกระดับธุรกิจในชุมชน

ธุรกิจแห่งความสุข เป้าหมายเพื่อการดำเนินธุรกิจและยกระดับธุรกิจในชุมชน

หากพูดถึงการเอาความสุข มาเป็นจุดยืนในการทำธุรกิจ เราอาจเคยได้ยินเรื่องราวการเล่าแบรนด์ต่าง ๆ มานับไม่ถ้วน แต่ครั้งนี้เป็นอีกมุมมองหนึ่ง

เพราะธุรกิจที่จะกล่าวถึงเริ่มต้นจากความสุข เติบโตได้ด้วยความสุข และสามารถอยู่ได้อย่างยืนยาวด้วยการแบ่งปันความสุข ซึ่งความสุขที่ว่านี้ยังคงอยู่ถึงปัจจุบันเป็นเวลานานกว่า 45 ปีแล้ว บนถนนย่านเยาวราช

ย้อนกลับไปเมื่อ 45 ปีก่อน เจ้าของผู้ก่อตั้งธุรกิจนี้ได้มีโอกาสพาคุณแม่ไปรับประทานอาหารนอกบ้าน ซึ่งอาหารที่รับประทานกันในวันนั้นคือสุกี้ ที่เป็นตำรับกวางตุ้ง ความสุขและบรรยายกาศการรวมตัวของครอบครัวในอาหารเย็นวันนั้นเปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มแห่งความสุขบนใบหน้าของคุณแม่

จึงเป็นที่มาของการเริ่มต้น ร้านอาหารสุกี้ ตำรับแต้จิ๋วตามที่มาของครอบครัวซึ่งใช้ชื่อของกิจการตามชื่อโรงหนังที่ตั้งอยู่ในระแวกนั้น และเป็นที่รู้จักกันอย่างดีบนถนนเล็ก ๆ เส้นนั้น

ตัวอย่างธุรกิจ

ความสุขที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานบนถนนเส้นนั้น เกิดขึ้นไม่ง่ายอย่างที่คิด เมื่อแรกเริ่ม พื้นที่บริเวณนั้นมีลักษณะเป็นเส้นทางที่เป็นหลุมเป็นบ่อ หาที่จอดรถยาก หากจะมีร้านอาหารตั้งอยู่ตรงนี้ก็คงยากที่จะมีลูกค้าแวะเวียนเข้ามาฝากท้องยามหิว

อีกทั้งเล็งเห็นว่า หากสามารถปรับเปลี่ยนร่วมกันทั้งถนนก็คงทำให้เกิดการกระจายความสุขของร้านค้าเล็ก ๆ แถวนั้นได้อย่างทั่วถึง

“เท็กซัส สุกี้” จึงเริ่มพูดคุยกับร้านค้าเล็ก ๆ ที่อยู่บนถนนเส้นนั้นเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนียภาพให้น่ามองพร้อมต้อนรับลูกค้าที่ผ่านไปมา และปรับสร้างถนนให้เป็นเหมือนที่เราทุกคนเห็นในปัจจุบันเพื่อยกระดับการค้าย่านนั้นให้เหมาะกับการเชิญชวนผู้คนให้เข้ามาจับจ่ายใช้สอยกับร้านค้าบนถนนเล็ก ๆ เส้นนั้นมากขึ้น

ธุรกิจร้านอาหารเท็กซัส สุกี้ดำเนินมาด้วยความเอาใจใส่ตามความตั้งใจที่ต้องการให้ลูกค้าที่เข้ามาได้รับประทานอาหารที่อร่อยและมีคุณภาพ แต่ราคาย่อมเยาเข้าถึงง่ายตามสโลแกน “กินอย่างราชา ราคามิตรภาพ”

เพื่อให้ลูกค้าได้มีความสุขจากมื้อสุขภาพของทางร้าน จึงทำให้หน้าตาลูกค้าของร้านคุ้นเคยกันรุ่นต่อรุ่น เพราะส่วนใหญ่แล้วลูกค้าที่เข้ามา จะเป็นลักษณะครอบครัวใหญ่ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสำคัญของการรวมตัวกันอย่างช่วงวันตรุษจีน

ด้วยความที่ร้านรองรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายดังกล่าว เกิดซ้ำ ๆ และมีประสบการณ์ร่วมตั้งแต่เด็กจนเติบโตมีครอบครัว และเมื่อมีครอบครัวก็ยังคงพาลูกหลานกลับมารับประทานอาหารที่นี่อีก กลายเป็นเหมือนอาหารวัฒนธรรมประจำครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น

ส่งผลให้เกิด Loyalty กับธุรกิจและการส่งต่อไปถึงลุกค้ากลุ่ม Generation ใหม่ ๆ จากประสบการณ์ที่ได้รับสืบทอดกันมา ทั้งนี้เพราะทางร้านเองให้ความสำคัญกับลูกค้าด้วยการเดินพูดคุยสอบถามไปมาอย่างเป็นกันเองในบรรยากาศครอบครัว

ทำให้ได้รับ Feedback และ Insight ของลูกค้าเพื่อมาปรับปรุงรสชาติของอาหาร น้ำซุปและพัฒนาเมนูคุณภาพให้หลากหลายตามยุคสมัยได้อย่างต่อเนื่อง

เช่นนี้เองจึงทำให้ร้านอาหารที่อยู่มานานยังคงรสชาติและยังปรับตัวรองรับกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ ด้วยในเวลาเดียวกัน

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อได้พูดคุยกับทางร้านเกี่ยวกับความหลากหลายเมนูใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เท็กซัส สุกี้ ยังคงเน้นการพัฒนาคุณภาพของอาหารและรักษามาตรฐานตามความตั้งใจไว้ตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อยังคงให้ลูกค้าได้รับอาหารทุกเมนูที่มีคุณภาพอยู่แม้ว่าจะมีช่วงที่สภาพเศรษฐกิจไม่เป็นไปอย่างที่คิด

ลูกค้าที่แวะมารับประทานอาหารเองก็ยังคงรับรู้ได้จากการลิ้มรสคุณภาพของวัตถุดิบที่คุณภาพดีไม่เคยเปลี่ยน แม้กระทั่งลูกชิ้นปลาที่เป็นหนึ่งในเมนูประจำร้านก็ได้ปรับเปลี่ยน ตรวจสอบคุณภาพอยู่ตลอดเวลา

ช่วงเวลาที่โควิด-19 แพร่ระบาดในประเทศไทยช่วงแรก ๆ เท็กซัส สุกี้ จำเป็นต้องปิดร้านตามคำสั่งประกาศ สิ่งที่ทางร้านทำได้คือ การเลือกเก็บพนักงานและดูแลพนักงานเป็นอย่างดี

โดยจัดสถานภายในร้านปรับให้เป็นที่พักสำหรับพนักงานและจัดทำอาหารทุกมื้อ เพื่อรักษาจำนวนผู้ที่ส่งมอบความสุขให้กับลูกค้าให้อยู่รอดปลอดภัย พร้อมเตรียมรอโอกาสในการเปิดหน้าร้านอีกครั้ง

ในขณะเดียวกันก็ขยายช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านแอปต่าง ๆ อย่าง โรบินฮู้ด เพื่อส่งอาหารที่ทำสำเร็จแล้วให้กับลูกค้า เพียงเพราะต้องการให้ลูกค้าเองนั้นยังคงได้รับประทานอาหารคุณภาพดี และดีต่อสุขภาพในช่วงที่โควิดระบาดหนัก ๆ

ตลอดระยะเวลากว่า 45 ปีที่ธุรกิจร้านอาหารเท็กซัส สุกี้ ยังคงอยู่มาได้อย่างยาวนาน คงไม่ใช่เพียงแค่การรักษาคุณภาพอาหารให้ดีอยู่ตลอดเวลาเพียงเท่านั้น

แต่คือ ความตั้งใจที่ชัดเจนและเหตุผลของการเริ่มธุรกิจและการทำให้ความสุขของมาเป็นรูปร่างที่จับต้องได้ผ่านอาหารไปถึงผู้บริโภค หรือผ่าน Stakeholder ที่อยู่รอบตัวธุรกิจเพื่อเอื้อต่อการธุรกิจโดยทั่วถึงกัน

นี่คงเป็นอีกหนึ่งมุมอง ที่อาจทำให้เราได้ลองทบทวนเป้าหมายของการทำธุรกิจ และการจัดการบริหารธุรกิจในแต่ละมิติ เพื่อการเติบโตได้อย่างมั่นคงในระยะยาว.